รู้จัก โรคใคร่เด็ก พฤติกรรมผิดปกติที่พ่อแม่ควรระวัง
สังคมในสมัยนี้มีอันตรายมากขึ้นทุกทีนะคะ อันตรายอย่างหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลมากที่สุดเรื่องหนึ่งนอกจากโรคภัยที่จะเกิดกับลูกแล้ว ก็เห็นจะเป็นความปลอดภัยจากการล่วงละเมิดทางเพศค่ะ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกเพศเลยนะคะ และเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ โดยบุคคลที่กระทำการเช่นนี้นั้น ได้ชื่อว่าเป็น โรคใคร่เด็ก ค่ะ เราจะสังเกตอย่างไรว่าใครเป็นโรคนี้ และมีบทลงโทษทางกฎหมายอย่างไรบ้างมาดูกันค่ะ
โรคใคร่เด็ก คืออะไร
โรคใคร่เด็ก (Pedophilia) เป็นอาการทางจิตที่ผิดปกติ ที่แสดงออกว่าชอบ หรือรักเด็ก แต่เป็น “ความรักที่เกินขอบเขต” รักแบบคลั่งไคล้ ต้องการให้เด็กเป็นของตัวเอง จนนำไปสู่การนำเด็กมาเป็นเหยื่อบำบัดความใคร่ทางเพศ
ลักษณะที่ส่อว่าจะเป็นโรค Pedophilia ได้แก่ ผู้ที่มีบุคลิกภาพไม่สมวัย มีความเก็บกดจากการเลี้ยงดูภายในครอบครัว กรณีนี้พบบ่อยในประเทศไทย
ผู้ที่มีจิตใจก้าวร้าวแสวงหาความตื่นเต้นเร้าใจ ชอบซื้อบริการโสเภณีเด็ก ผู้ที่เคยกระทำละเมิดทางเพศเด็กมาก่อน รวมทั้งผู้ที่มีปมด้อยเรื่องความเป็นชาย เช่น อวัยวะเพศเล็กเกินไป หรือถูกภรรยาดุด่า เป็นต้น
เด็กที่มีความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของผู้ป่วย โรคใคร่เด็ก
เด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์ไม่ถึง 13 ปี ได้แก่
6 ลักษณะ “ผู้ป่วยโรคใคร่เด็ก”
มักไม่แสดงพฤติกรรมที่ชัดเจนและสังเกตอาการจากภายนอกได้ยาก
- ส่วนมากเป็นผู้ชาย อายุ 35-40 ปี ขึ้นไป
- ไม่ค่อยมีความสุขกับคู่ครองวัยเดียวกัน
- เกิดความรู้สึก หรือมีจินตนาการทางเพศกับเด็กเท่านั้น
- พยายามเข้าใกล้เด็กด้วยวิธีการตีสนิท หลอกล่อ ให้รางวัล ให้ขนม ให้เงิน เพื่อให้เด็กเชื่อใจ หรือเพื่อตีสนิท
- ส่วนใหญ่เกิดจากคนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด เช่น เพื่อนบ้าน หรือญาติ
- ชอบมีความสัมพันธ์ทางเพศซ้ำแล้วซ้ำอีกกับเด็ก ทั้งคนเดิมหรือกับเด็กคนใหม่
ในต่างประเทศ เมื่อแพทย์ตรวจวินิจฉัยพบว่า ผู้กระทำผิดเป็นผู้ป่วย Pedophilia ซึ่งแตกต่างจากผู้ที่มีความต้องการทางเพศสูง ศาลมักจะมีคำสั่งให้จิตแพทย์รับคนเหล่านี้ไปบำบัดอาการ เพื่อป้องกันก่อคดีซ้ำอีก เมื่อบำบัดหายแล้ว จึงกลับไปรับโทษ วิธีการบำบัดที่ใช้ได้ผลระดับหนึ่ง คือ การทำ CBT เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสติปัญญา ร่วมไปกับการใช้ยาต้านซึมเศร้า และยาลดฮอร์โมนเพศชาย (แอนตี้เอนโดรเจน) ให้ความต้องการทางเพศลดลง ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะหายจากอาการหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับจิตใจของผู้ป่วยด้วย
รูปแบบการกระทำทางเพศกับเด็ก
ไม่มีการสัมผัสร่างกาย
- แอบดูเด็กอาบน้ำ
- พูดจาลวนลาม
- เปลือยกาย หรือให้เด็กดูอวัยวะเพศ
- ดูภาพ หรือคลิปลามก เพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ
สัมผัสร่างกาย แต่ไม่ได้ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศ
- กอดจูบ ลูกคลำอวัยวะเพศเด็ก
- ให้เด็กจับอวัยวะเพศ เพื่อสำเร็จความใคร่
ล่วงละเมิดทางเพศ
- บังคับ หรือข่มขู่ให้เด็กเก็บเป็นความลับ
- กระทำชำเราซ้ำๆ
- ทำร้ายร่างกาย หรือฆ่า
โทษทางกฎหมายของผู้ป่วยโรคใคร่เด็ก
1. การกระทำความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก
• การครอบครอง/การส่งต่อ/การเผยแพร่ วัตถุ หรือสิ่งที่แสดงให้รู้หรือเห็นการกระทำทางเพศของเด็กหรือกับเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี เช่น รูปภาพ ภาพเขียน ภาพพิมพ์ แถบบันทึกเสียง รวมถึงสิ่งที่จัดเก็บในระบบคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศ
2. การกระทำความผิดฐานอนาจารเด็ก
• การกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศต่อร่างกายผู้อื่น เช่น การสัมผัสจับต้องเนื้อตัวร่างกาย การลวนลามร่างกายในทางไม่สมควร และการกระทำ ให้อับอายขายหน้าในทางเพศ
3. การกระทำความผิดฐานกระทำชำเรา
• การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม
บทลงโทษตามกฎหมายอาญา
1. การกระทำความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก
• ครอบครอง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 287/1)
• ส่งต่อสื่อลามก มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 287/1)
• เผยแพร่สื่อลามก มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 บาท ถึง 200,000 บาท (มาตรา 287/2)
2. การกระทำความผิดฐานอนาจารเด็ก
• เด็กอายุไม่เกิน 13 ปี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม มีโทษจำคุก 1 – 10 ปี หรือปรับ 10,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 279)
• เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม มีโทษจำคุก ไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 279)
3. การกระทำความผิดฐานกระทำชำเรา
• เด็กอายุไม่เกิน 13 ปี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม มีโทษจำคุก 7 – 20 ปี และปรับ 140,000 – 400,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต (มาตรา 277)
• เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม มีโทษจำคุก 5 – 20 ปี และปรับ 100,000 – 400,000 บาท (มาตรา 277)
บทลงโทษผู้ป่วยทางจิตเวชที่ทำผิด
1. ยกเว้นโทษ / ลดโทษ
• กระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบชั่วดี / ไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีอาการจิตบกพร่อง เป็นผู้ป่วยจิตเวช หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่ต้องรับโทษ
• ถ้าพิสูจน์แล้วว่าผู้กระทำผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือ ยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง อาจรับโทษน้อยลง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล
2. มีเหตุให้บรรเทาโทษ
• โง่เขลา เบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์สาหัส
• มีคุณความดีมาก่อน
• รู้สึกผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายในความผิด
• ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา
• สารภาพความผิดต่อเจ้าพนักงาน
หมายเหตุ : ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดโทษและลงโทษโดยคำนึงถึงความผิดปกติทางจิต “โรคใคร่เด็ก” และอาจไม่เข้าข่ายเป็นผู้ป่วยทางจิตเวช ผู้ทำความผิดจึงมีความผิดและรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา
แจ้งเหตุได้ที่:
– มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 0-2412-1196 (ในเวลาราชการ)
– ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
ขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานกิจการยุติธรรม ,สำนักข่าวไทย,ธรรมนิติ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก