สอนลูกนั่งกระโถน – การฝึกลูกขับถ่ายอาจเป็นประสบการณ์ที่ท้าทายสำหรับทั้งเด็กและผู้ปกครอง ความสำเร็จมักไม่ได้มาโดยบังเอิญ อาจมีน้ำตาหรือความล้มเหลวเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา เพราะการเรียนรู้การใช้ห้องน้ำไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กๆ ไม่ว่าประสบการณ์การฝึกให้ลูกนั่งกระโถนของคุณจะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญคือต้องแน่ใจว่าลูกของคุณได้รับการสนับสนุนที่ดีและเหมาะสมที่จะทำให้เกิดทัศนคติเชิงบวกในขณะที่พวกใช้ความพยายามเรียนรู้ฝึกฝนทักษะใหม่สำหรับชีวิต มีข้อควรรู้บางประการที่พ่อแม่ไม่ควรทำหากต้องการฝึกให้ลูกนั่งกระโถนได้สำเร็จตามที่ตั้งใจ
อยาก สอนลูกนั่งกระโถน นั่งโถส้วมให้สำเร็จ พ่อแม่ต้องไม่ทำเรื่องเหล่านี้!
1. ลูกไม่พร้อม อย่าบังคับ
พ่อแม่ควรแน่ใจว่าลูกพร้อมที่จะเริ่มฝึกใช้กระโถน ซึ่งสัญญาณทั่วไปในความพร้อม ได้แก่ ลูกสามารถสื่อสารความต้องการของตนเองได้ แสดงความสนใจในการเข้าห้องน้ำอย่างอิสระ และสามารถจัดการกับความต้องการทางกายภาพต่างๆ เช่น การแต่งตัว และการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ง่าย ๆ หากสงสัยว่าลูกอาจไม่พร้อม แนะนำให้เผื่อเวลาไว้สองสามสัปดาห์หรือหลายเดือนก่อนที่จะลองฝึกลูกนั่งกระโถนอีกครั้ง
หากลูกของคุณปฏิเสธที่จะฝึก การบังคับให้พวกเขาไปนั่งบนกระโถนอาจสร้างบรรยากาศที่ไม่ดีนัก ในที่สุดจะนำไปสู่การต่อต้าน อาจทำให้ลูกเกิดความรู้สึกด้านลบกับการใช้ห้องน้ำ ซึ่งจะยิ่งเป็นเรื่องยากต่อการเริ่มฝึกครั้งต่อไป ผลเสียคือ อาจทำให้ลูกของคุณกลั้นปัสสาวะหรือปัสสาวะไม่ออกและอาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้น พ่อแม่ต้องให้โอกาส และพยายามเข้าใจช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ของลูกให้มากที่สุดเหมือนกับเหตุการณ์สำคัญอื่นๆ เช่น การนั่ง เดิน และพูด ต้องให้เกียรติ ให้เวลา ไม่เร่งเร้า เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เด็กบางคนอาจต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างมากเพื่อฝึกฝนทักษะเหล่านี้
ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าคุณต้องละทิ้งการฝึกหรือปล่อยให้ลูกของคุณสลับระหว่างการใส่ผ้าอ้อมและการฝึกเมื่อใดก็ได้ แต่นั่นหมายถึงว่าคุณต้องแน่ใจว่าพวกเขาพร้อมที่จะก้าวไปสู่ขั้นที่เป็นอิสระ หากดูเหมือนลูกของคุณจะอยากเลิกผ้าอ้อม ก็ถือว่าได้เวลาที่เหมาะสมแล้ว
2. ฝึกลูกในช่วงที่ครอบครัวอยู่ในความเครียด
ความเครียดต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับครอบครัว อาจทำให้ลูกของคุณรู้สึกไม่พร้อมที่จะฝึกฝนสิ่งใหม่ๆ คล้ายกับความท้าทายในการต้องจัดการกับเรื่องหนักๆ ในชีวิตไปพร้อมกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก หากมีวาระสำคัญที่ไม่ดีนักเกิดขึ้นกับครอบครัว ควรรอจนกว่าเรื่องต่างๆ จะกลับมาเป็นปกติ แล้วค่อยหาเวลาเหมาะ ๆ ฝึกลูก สิ่งนี้สร้างความปลอดภัยให้กับลูกของคุณและช่วยให้พวกเขาเข้าห้องน้ำได้ง่าย ควบคู่ไปกับกิจวัตรปกติอื่นๆ และที่สำคัญคุณจะมีสมาธิเและพลังงานเชิงบวกมากเพียงพอที่จะช่วยเหลือลูกให้สามารถฝึกใช้กระโถนได้สำเร็จ
3. กำหนดเส้นตาย
จำไว้ว่า เด็กเล็ก ยังไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ที่ได้ดี หากมีเรื่องของระยะเวลามากำหนด ด้วยวัยของพวกเขาที่ยังไม่มีแนวคิดเรื่องเวลาแบบเดียวกับผู้ใหญ่ และความพร้อมของเด็กแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไป เด็กบางคนอาจนั่งกระโถนได้ก่อนอายุ 18 เดือน แต่อีกหลายคนอาจใช้เวลาหลายปีกว่าที่พวกเขาจะพร้อม บางคนยังไม่สามารถนั่งกระโถนได้จนก่อนเข้าอนุบาล ในขณะที่เด็กบางคนฝึกนั่งส้วมหรือกระโถนได้อย่างรวดเร็ว เคล็ดลับต่างๆ ที่มีให้อ่านเกี่ยวกับวิธีฝึกให้ลูกนั่งกระโถนให้ได้ผลสำเร็จ ในสามวัน เจ็ดวัน หรือแม้แต่หนึ่งวันอาจไม่ได้คำนึงถึงบุคลิกลักษณะเฉพาะของเด็ก เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีอารมณ์ความรู้สึก และ พัฒนาการที่แตกต่างกัน
4. ปล่อยให้ความผิดพลาดมาฉุดรั้ง
รากฐานที่สำคัญประการหนึ่งในการฝึกลูกนั่งกระโถนให้สำเร็จ และเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ คือการ “ยอมรับในความผิดพลาด” ส่งเสริมให้ลูกของคุณไปเข้าห้องน้ำ ความผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ยังทำได้ไม่ดี เลอะเทอะ หรือยังไม่สามารถขับถ่ายบนกระโถนได้ มักเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติสำหรับการเปิดรับสิ่งใหม่ๆของชีวิต ดังนั้นไม่มีอะไรที่คุณต้องรู้สึกแย่ เมื่อมันเกิดขึ้นเราสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่จะพาไปสู่ความสำเร็จได้ ความผิดพลาดที่พ่อแม่เฝ้าเน้นย้ำมากเกินไป อาจเพิ่มความรู้สึกประหม่าและละอายใจให้กับลูกซึ่งอาจนำไปสู่ความล้มเหลวในการฝึก ดังนั้น เมื่อมันเกิดขึ้นให้รักษาท่าทีและน้ำเสียงวาจาที่ดี ให้ลูกรู้สึกว่าคุณพร้อมที่จะรอแลใะห้โอกาสต่อไปที่ลูกจะสามารถใช้กระโถนให้สำเร็จในวันข้างหน้า
5. ให้ลูกสวมเสื้อผ้าที่ไม่เอื้ออำนวย
เมื่อเริ่มฝึกคุณจะรู้ว่า แขนและมือเล็กๆ ยากเพียงใดในการจัดการเมื่อต้องรีบ ถอดชุด ปลดกระดุม รูดซิปกางเกง เมื่อความอยากฉี่หรืออุจจาระกำลังคืบคลานเข้ามา ดังนั้นควรทำให้เป็นเรื่องง่ายที่สุดสำหรับบุตรหลานของคุณ ใช้ทักษะการเคลื่อนไหวของลูกของคุณเป็นตัววัดในการเลือกเสื้อผ้าระหว่างการฝึก เช่น กางเกงเอวยางยืดแบบเรียบง่าย กางเกงขาสั้น หรือกระโปรง เป็นต้น
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงชุดหลวม ๆ เว้นแต่ลูกของคุณจะเชี่ยวชาญในการถอดและใส่กลับเข้าไปใหม่ เช่นเดียวกับสายเอี๊ยม เข็มขัด กางเกงรัดรูป เสื้อเชิ้ตแบบชิ้นเดียวที่ติดที่เป้า และทุกอย่างที่มีซิป กระดุม หรือสายรัดอื่นๆ ที่อาจเป็นเรื่องยากสำหรับบุตรหลานของคุณในการจัดการอย่างรวดเร็วและเป็นอิสระ เวลาอยู่ที่บ้านลองปล่อยให้ลูกของคุณวิ่งเล่นโดยใส่แค่กางเกงใน หรือเปลือยได้เลยหากคุณรู้สึกสะดวกสบายเพราะท้ายที่สุดแล้วมันจะเป็นชุดฝึกนั่งกระโถนที่ดีที่สุด
6. ยอมแพ้ต่อแรงกดดันจากภายนอก
เป็นธรรมดาที่อาจมีแรงกดดันจากภายนอก (ในแง่ของวิธีการและเวลาในการฝึกนั่งกระโถนและผลลัพธ์) เช่น จากปู่ย่าตายาย ผู้ปกครองคนอื่นๆ ในกลุ่มพ่อแม่ต่างๆ ซึ่งทางที่ดี ให้คุณคิดไว้เสมอว่าในขณะที่คนอื่นอาจเต็มไปด้วยภูมิปัญญาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก คำแนะนำบางอย่างอาจไม่ตรงใจคุณหรือไม่ได้ผลดีที่สุดสำหรับคุณและลูกของคุณ ใช้สัญชาตญาณของคุณเองและพึ่งพาความรู้ที่คุณมีเกี่ยวกับความพร้อมของบุตรหลานและแนวทางที่ทำให้คุณ (และลูกของคุณ) สบายใจที่สุด เพราะคุณเป็นคนที่รู้จักลูกและตัวเองดีที่สุด จำไว้ว่าทักษะเหล่านี้เป็นทักษะที่เด็กส่วนใหญ่เรียนรู้ เด็กแต่ละคนอาจเรียนรู้ในเวลาที่ต่างกันตามจังหวะของตนเอง อย่ามัวแต่กังวลว่าใครจะฝึกกระโถนก่อน ฝึกเร็วกว่า ทำได้ก่อน เพราะท้ายที่สุด มันไม่ใช่เรื่องสำคัญ และอาจทำให้คุณรู้สึกเครียดเปล่าๆ และพาลล้มเลิกความตั้งใจที่ดี
7. มองข้ามความรู้สึกของลูก
เด็ก ๆ สามารถพัฒนาความกลัวได้ในระหว่างการฝึกฝน ซึ่งอาจเป็นความกลัวที่มากพอๆ กับความกลัวที่ผู้ใหญ่มี เด็กอาจกลัวสิ่งที่คุณไม่รู้สึกว่าน่ากลัว สิ่งสำคัญคือการให้เกียรติและดูแลความรู้สึกของลูก
ในกรณีที่ฝึกนั่งบนโถส้วม เด็กอาจไม่เข้าใจกลไกของโถส้วมและเสียงที่ดังกึกก้องในพื้นที่เล็กๆ หากเด็กประสบอุบัติเหตุลื่นล้มจากที่นั่งชักโครก และโดนน้ำจากก้นโถส้วมเพียงครั้งเดียวก็อาจทำให้เด็กๆ ละไปจากตรงนั้นหรือแม้แต่ต้องพักการฝึก เด็กบางคนมีปัญหากับการดูอุจจาระของพวกเขาหายไปกับโถส้วมราวกับว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขาเหมือนแขนหรือขา
ทางที่ดีพ่อแม่ควรจัดการกับความกลัวต่างๆ ของลูกอย่างสุภาพอ่อนโยน พูดคุยถึงความกลัวโดยไม่ทำให้เป็นเรื่องใหญ่โต หรือทำให้ลูกของคุณรู้สึกว่าความรู้สึกของพวกเขาไม่สำคัญ เด็กบางคนอาจต้องการความช่วยเหลือในการแสดงความกังวลและจัดการกับความรู้สึก ดังนั้นควรใช้คำพูดที่เหมาะสมและไม่ใช้อารมณ์
พยายามฝึกฝนและทำงานร่วมกับลูกของคุณ มองมันเป็นโอกาสการเรียนรู้อีกหนึ่งโอกาสและอีกหนึ่งก้าวของการเติบโตและความเป็นอิสระในชีวิตของลูกปฏิบัติต่อลูกน้อยของคุณด้วยความอดทน และให้กำลังใจ และอย่าลืมที่จะสนุกสนานไปพร้อมกับลูกๆ เพราะท้ายที่สุดแล้วการฝึกฝนเรื่องการขับถ่ายให้ลูกสามารถนั่งกระโถนได้สำเร็จ จะช่วยเสริมสร้างทักษะความฉลาดรอบด้านด้วย Power BQ ในด้าน ความฉลาดต่อการมีสุขภาพที่ดี (HQ) ได้อีกด้วยค่ะ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : verywellfamily.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ฝึกลูกนั่งกระโถน ก่อนวัย 1 ขวบ ด้วย 6 เทคนิคง่ายๆ
ลูกฉี่ราดบ่อย เพราะฝึกนั่งกระโถนเร็วไปไหม
วิธีเลิกผ้าอ้อม ฝึกลูกใน 5 ขั้นตอน ได้ผลจริง! โดย พ่อเอก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่