โดยคุณหมอโอ๋ เพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน ได้กล่าวถึง วิธีสอนลูกเมื่อลูกทําผิด ของพ่อกายกับแม่ฮารุว่า..
หมอขออนุญาตไม่วิจารณ์ใครเรื่องการเลี้ยงลูกที่เราก็เห็นเขาเพียงช่วงเวลาสั้นๆ
แต่ขอพูดถึง “วิธีการ” เพื่อทำให้เราเข้าใจในหลักการ เพราะสิ่งนี้ถูกนำมาเผยแพร่ในสังคม จนทำให้เกิดการตั้งคำถามด้วยความสงสัย ว่าวิธีการนี้ดีหรือไม่? หลายคนถูกใจอยากนำไปทำตาม
การขู่ให้กลัว การลงโทษให้หลาบจำ “เดี๋ยวให้ตำรวจมาจับ” “ดื้อเดี๋ยวให้หมอฉีดยา” ในทางหลักการมันจะส่งผลอย่างไร
หมอขอเขียนในแง่ของวิชาการ เผื่อการนำไปลองปรับใช้กันดูนะคะ
1. เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่มีปัญหา เด็กต้องการ ”การช่วยเหลือ” เพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่แค่การลงโทษให้หลาบจำ
2. เมื่อลูกทำร้ายตนเอง ทำร้ายคนอื่น ทำลายข้าวของ เป็นสัญญาณว่าเราต้องจริงจังในการช่วยเหลือแก้ปัญหา
3. การช่วยเหลือสำคัญ คือการหา “ที่มา” ของปัญหา อะไรที่ทำให้เด็กคนหนึ่ง คุมอารมณ์ไม่ได้แบบซ้ำๆ บ่อยครั้ง
4. ในภาวะลูกอาละวาด ให้พาออกมาในที่ที่ไม่มีข้าวของอันตราย กอดลูกไว้ด้วยอารมณ์สงบ เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่า โกรธได้ ร้องไห้ได้ แต่ทำลายข้าวของไม่ได้
5. เด็กที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ พวกเขาต้องการคน
ช่วยบอกว่า แล้วเวลาโกรธ “เขาทำอะไรได้” เช่น ปาของเสียหายไม่ได้ ถ้าอยากปา มาปาลูกบอลไปไกลๆ ตรงนี้ได้ มาเป่าเจ้าตัวโกรธออกไปได้ พูดออกมาได้ ร้องไห้ระบายความคับแค้นใจได้ มาขีดเส้นยุ่งๆตรงนี้ได้ มาอยู่มุมสงบตรงนี้ได้ ฯลฯ
พอรู้วิธีที่ทำได้ วิธีที่ทำไม่ได้จะค่อยๆ หายไป
6. การขู่ให้กลัว ทำให้หลาบจำ หลายครั้งสร้างบาดแผลทางใจ และต้องมานั่งแก้ปัญหาใหม่ ที่มักจะ “ได้ไม่คุ้มเสีย”
7. ความเชื่อใจ ความมั่นคงทางใจ ความเชื่อว่าพ่อแม่คือคนปกป้องคุ้มภัย มีผลต่อการเติบโตทางใจของลูก “มหาศาล”
8. ในบางราย การทำลายความเชื่อมั่นในสายสัมพันธ์ (attachment) นั้น หลายครั้งใช้เวลาสร้างใหม่ที่ยาวนานจนคาดไม่ถึง และนั่นมักนำมาซึ่งปัญหาทางพฤติกรรมอื่นๆ
9. ควรระวังผลลบจากการตีตราตนเอง “ฉันเป็นเด็กไม่ดี” “ฉันทำผิดจนถูกพาขึ้นโรงพัก” “ฉันเคยถูกตำรวจจับ” “ฉันดื้อ ฉันไม่ได้เรื่อง” สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาตัวเองของเด็กๆ
10. เด็กที่เติบโตมากับคำขู่ที่ไม่จริง ความเชื่อใจ ที่มีให้พ่อแม่หายไป จะทำให้ยิ่งคุยกันยาก… พ่อแม่ควรเชื่อถือได้เสมอ
11. อย่าพยายามใช้บุคคลภายนอกมาสร้างอำนาจแทน “พ่อแม่” เพราะนั่นเรากำลังแสดงถึงการไร้อำนาจของพ่อแม่
12. เมื่อเด็กหวาดกลัว เครียด สมองของมนุษย์จะเลือกที่จะเอาตัวรอด ด้วยการ สู้ หนี หรือ ยอม ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็กลายเป็นวงจรของการพัฒนาสู่ปัญหาพฤติกรรม
สู้ – ก้าวร้าว รุนแรง
หนี- ปกปิด โกหก ไม่กล้าเผชิญอะไรใหม่ๆ วิตกกังวล
ยอม – รู้สึกเป็นผู้แพ้ ไร้อำนาจ ไร้ตัวตน ไม่มี self esteem (ความนับถือตัวเอง)
13. การพัฒนา EF (executive function) ของสมองส่วนหน้า ซึ่งรวมถึงการควบคุมอารมณ์ สมองจะทำได้ดีในภาวะที่มีความสุขและความสงบ #นี่คือวิทยาศาสตร์สมองของมนุษย์
สุดท้าย สำหรับใครที่คิดว่าอยากพาลูกไปหาความช่วยเหลือเพราะเริ่มจัดการด้วยตัวเองไม่ได้ แนะนำให้พาลูกพบหมอพัฒนาการเด็กหรือจิตแพทย์เด็กน่าจะดีกว่าไปพบตำรวจนะคะ (และต้องพาไปแบบไม่ใช่เป็นการลงโทษด้วยนะ😂😂)
“แม่อยากไปปรึกษาคุณหมอดู ว่าแม่จะช่วยเหลือลูกได้ยังไงบ้าง บางทีแม่ก็ไม่รู้ว่าที่ช่วยลูกอยู่ถูกต้องรึเปล่า”
ลองอ่านแล้วนำไปปรับๆ ใช้ โดยไม่มาม่ากันนะคะ 😂
ขอบคุณที่มาจาก #หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน
วิธีจัดการเมื่อลูกมีพฤติกรรม ต่อไปนี้
- อาละวาดลงไม้ลงมือ :: พฤติกรรมนี้มักเกิดกับเด็กเล็กที่มีความคับข้องใจ เพราะไม่ได้รับการตอบสนองในสิ่งที่ตนต้องการ และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ
- ต้องทำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่จะไม่ยอมให้เขาทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นเป็นอันขาด (ที่สำคัญพ่อแม่จะต้องไม่ทำร้ายเขาด้วย)
- เก็บข้าวของทุกอย่างที่เป็นอันตรายให้พ้นมือลูก
- พาลูกไปอยู่ในที่ปลอดภัย และถ้าเป็นไปได้ควรให้อยู่พ้นสายตาคนอื่น
- ทำให้ลูกกรู้ว่าเมื่อใดที่เขาสงบพ่อแม่ จึงจะพูดกับเขา
- เพิกเฉยกับพฤติกรรมที่ลูกแสดงออก แต่เมื่อเด็กประพฤติตัวดี พ่อแม่ต้องให้ความสนใจเขาทันที
- พฤติกรรมก้าวร้าว :: สำหรับเด็กเล็กที่ยังขาดทักษะในการควบคุมตนเอง ดั้งนั้นเมื่อถูกขัดใจ เด็กมักแสดงออกด้วยการกัด ทุบตี ทำร้ายคนอื่น
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ
- หยุดพฤติกรรมก้าวร้าวทันที และพยายามป้องกันไม่ให้ลูกทำร้ายใคร
- ให้ลูกสามารถเรียนรู้วิธีที่ถูกต้อง หากลูกแสดงความรู้สึกโกรธไม่พอใจต่อการกระทำของคนอื่น เช่น สอนให้ลูกรู้จักใช้คำพูดบอกความรู้สึก เช่น “ฉันไม่ชอบเล่นแบบนี้” “หยุดเดี๋ยวนี้ ฉันเจ็บนะ”
- ใช้วิธีแยกอยู่ลำพัง การแยกอยู่ลำพังเป็นวิธีที่ดีที่สามารถจัดการกับพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กได้
วิธีสอนลูกเมื่อลูกทําผิด พร้อมแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ให้ได้ผล!!
1. ทำความตกลงกัน เมื่อ พ่อแม่ต้องการให้ลูกเลิกนิสัยก่อกวน วุ่นวายให้ใช้วิธีดังต่อไปนี้
- ทำความตกลงร่วมกันที่จะแก้ไขพฤติกรรม
- เลือกรางวัลให้ลูกที่สามารถแก้ไขพฤติกรรมได้
- บันทึกความสำเร็จที่ลูกสามารถทำได้ในแต่ละวัน ลงในแผ่นกระดาษที่ติดไว้ข้างผนัง เพื่อเป็นแรงเสริมให้เกิดกำลังใจที่จะทำต่อไป
2. ให้ลูกชดใช้เมื่อทำข้าวของชำรุดหรือเสียหาย ถ้าลูกทำข้าวของเสียหายหรือชำรุด กรณีเด็กโตจะต้องรับผิดชอบซ่อมแซมของนั้นให้เหมือนเดิมหรือชดใช้ค่าเสีย หายด้วยเงินของตนเอง หรือถ้าเป็นเด็กเล็กควรให้ลูกทำงานชดใช้ เช่น ช่วยทำความสะอาดบ้าน ฯลฯ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่าจะต้องรับผิดชอบในการกระทำของตน
Must read : ไม่ต้อง “ขู่” หนูก็เชื่อฟังแม่ ด้วย 4 วิธีทำได้ง่ายๆ
3. การใช้คำพูดเพื่อหยุดยั้งพฤติกรรม ควรพูดสั้น ๆ “ทำไม่ได้นะ” “หยุดทำเดี๋ยวนี้” จะได้ผลมากกว่าการพูดดุพร่ำเพรื่อ หรือพูดมากเกินไป เพราะจะทำให้ลูกต่อต้านไม่ฟังหรืออาจหันมาใช้วิธีดื้อเงียบทั้งนี้ควรใช้คำพูดสั้นๆเฉพาะที่จำเป็นด้วยท่าทีที่สงบแต่เอาจริง ต้องกระทำโดยปราศจากการข่มขู่ให้เกิดความกลัวไม่ควรกระทำด้วยอารมณ์ โกรธ เพราะอาจลงโทษเกินกว่าเหตุได้
4. ตัดสิทธิที่พึงได้ เมื่อลูกกระทำผิดหรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมการลงโทษ โดยการตัดสิทธิที่พึงได้เป็นวิธีหนึ่ง ที่ได้ผลดี เช่น งดดูทีวีรายการที่ชอบ งดเล่นวีดีโอเกมส์ งดออกไปขี่จักรยานนอกบ้าน งดออกไปเที่ยวกับเพื่อนหรือครอบครัว
หลัก 4 ประการ เพื่อฝึกวินัยให้ได้ผล
วางกฎให้ชัดเจน
ความสม่ำเสมอ
เอาจริงแต่นุ่มนวล
ชมและสนใจ
อย่างไรก็ดีการที่เด็กจะเติบโตขึ้นมาด้วยทัศนคติ ที่ดีการมองโลกในแง่ดี ย่อมเป็นผลมาจากการเลี้ยงดู ถ้าพ่อแม่เข้าใจ และสามารถหาสาเหตุของการกระทำผิดได้ จะทำให้การแก้ไขพฤติกรรมของลูกเป็นไปอย่างถูกต้อง การลงโทษด้วยการตีรุนแรงเป็นการหยุดยั้งพฤติกรรมได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น ฉะนั้นด้วยท่าทีที่มั่นคง มีความเมตตาแต่เอาจริงจะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกให้เหมาะสมได้ และที่สำคัญยังคงไว้ซึ่งสัมพันธภาพที่ดีต่อกันดังเดิม
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :
- 7 วิธีระงับความโกรธ ก่อนเผลอตีลูกด้วยอารมณ์
- ตีลูกบ่อย ไม่สร้างวินัย แต่คือ การทำร้าย ทำลายอนาคตลูก
- แม่ตีลูก ผิดกฎหมายแน่! ญี่ปุ่นชงมาตรการห้ามทำโทษลูกแล้ว
- รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ใช้ได้ผลกับเด็กยุคนี้จริงหรือ?
- แม่แชร์ วิธีจัดการลูกดื้อ จากคลินิกพัฒนาการเด็กได้ผลชัวร์!
- ลงโทษ Time out!! วิธีการนี้ดีหรือไม่ลูกจะรู้สึกอย่างไร?
ขอบคุณข้อมูลจาก รพ.สวนปรุง : thaipsychiatry.wordpress.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่