เชื้อราแมว- สำหรับบ้านที่เลี้ยงแมวไว้ แล้ววันหนึ่งที่บ้านเกิดมีสมาชิกใหม่เพิ่ม เป็นมนุษย์จิ๋วตัวน้อยไร้เดียงสา เราอาจต้องระวังดูแลเรื่องความสะอาด ทั้งเจ้าแมว และเจ้าตัวน้อยของเราให้ดีนะคะ เพราะเด็กทารก ภูมิคุ้มกันโรคยังอ่อนแอเกินที่จะป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคต่างๆ ในกรณีที่แมวที่บ้านคุณ อาจมีเชื้อราแฝงอยู่ตามผิวหนังและขน และถ้าเกิดเจ้าตัวน้อยของเราติดเชื้อราที่ว่านี้ขึ้นมา คงแย่เลยละค่ะ โรคนี้ แม้ดูเหมือนไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่เมื่อเป็นขึ้นมา จะยากต่อการรักษาให้หายในเวลาอันสั้น ดังนั้นเราจึงควรป้องกันไว้ดีกว่าแก้ วันนี้เรามาทำความรู้จัก เชื้อราแมว และวิธีป้องกันให้ลูกน้อยของเราปลอดภัยจากเจ้าเชื้อราร้ายนี้กันค่ะ
คนเลี้ยงแมวระวัง! เด็กเล็กทารกติด เชื้อราแมว อันตรายใกล้ลูก
เชื้อราแมว คืออะไร
คือ เชื้อที่ทำให้แมวเป็นโรคผิวหนัง จนเกิดเป็นลักษณะของกลาก ( Tinea Corporis หรือ Ringworm ) ที่ผิวหนังของแมว สาเหตุเกิดจากความชื้นสะสม โดยแมวขนยาวมีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่าแมวขนสั้น บริเวณของผิวหนังแมวที่ติดเชื้อรา จะสังเกตได้ว่าขนจะหลุดเป็นหย่อมๆ ผิวหนังแห้ง และแดง ลอกเป็นขุยๆ โดย เชื้อราในแมว ที่พบได้บ่อย มีอยู่ 2 ชนิด ไก้แก่
- ไมโครสปอร์รุ่ม คานิส (Microsporum canis)
- ไตรโคฟีตันรูบรัม (Trichophyton Rubrum)
กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อ
- ผู้ที่ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ
- ทารก และ เด็กเล็ก
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่คลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง เช่น แมวและสุนัขเป็นประจำ
- ผู้ที่ไม่ล้างมือหรืออาบน้ำให้สะอาด หลังจากคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง
ลักษณะของการติดเชื้อ
สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- ติดเชื้อโดยตรง คือ การสัมผัสหรือได้รับสปอร์ของเชื้อราจากสัตว์เลี้ยงที่ติดโรค เช่น สุนัข แมว
- ติดเชื้อทางอ้อม คือ การติดเชื้อจากการสัมผัสวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น ที่นอน หมอน มุ้ง ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว หวี ผ้าคลุมศีรษะ ผ้าพันคอ และ หมวก เป็นต้น
เชื้อรา ต้นเหตุปอดอักเสบที่ลูกน้อยต้องระวัง
รับมืออย่างไร? เมื่อลูกติด “กลาก เกลื้อน” มาจากโรงเรียน
6 โรคผิวหนังอักเสบ ติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็ก
อาการเมื่อติดเชื้อราแมว
เชื้อราจากแมว จะทำให้เกิดเป็นผื่นแดงบริเวณผิวหนัง หรือที่คนทั่วไปมักเรียกว่า กลากแมว มักเกิดขึ้นบริเวณ ใบหน้า แขน ข้อมือ ขา ข้อเท้า คอและหลัง หรือส่วนใดก็ตามที่สัมผัสกับแมว หรือสัมผัสกับสปอร์ของเชื้อรา ตามจุดเสี่ยงต่างๆ ลักษณะผื่นมักพบกระจาย ผื่นจะมีสีชมพูจนแดงมีขุยสีขาว ขอบยก นูนหนา ชัดเจน บางครั้งอาจพบลักษณะตุ่มหนองบริเวณขอบผื่น โดยผื่นแดงที่เกิดขึ้นจะทำให้เด็กรู้สึกคันมาก และหากเด็กใช้นิ้วเกาที่ผื่นแดง แล้วไปเกาที่ผิวหนังส่วนอื่นต่อ อาจส่งผลให้ผิวหนังส่วนอื่นๆ นั้น ติดเชื้อราจนเป็นผื่นแดงเพิ่มขึ้นที่จุดอื่นได้อีก หากไม่ได้รับการรักษากลากจะขยายเป็นวงใหญ่ขึ้น
วิธีรักษากลากจากเชื้อราแมว ในทารกและเด็กเล็ก
ส่วนมาก กลากแมว ที่เกิดขึ้นในเด็ก สามารถรักษาได้โดยการทายาฆ่าเชื้อรา หากทาบริเวณที่เป็น กลาก อย่างต่อเนื่องราว 3 สัปดาห์ อาการจะดีขึ้นได้เอง แต่เมื่อรอยผื่นแดงจากกลากหายไป อาจทิ้งร่องรอยคล้ำจางๆ ที่ผิวของเด็กได้ อีก 2-3 เดือน และจะค่อยๆ จางหายไปเอง ในกรณีที่รอยไม่จางลง หรือจางช้า อาจเกิดจากการที่ผู้ป่วยมีการเกิดผื่นแดงจากเชื้อราซ้ำ เพราะภูมิต้านทานของเด็กไม่แข็งแรงเพียงพอ นอกจากนี้การรักษาความสะอาดและการดูแลรักษาแมวในบ้าน ให้หายขาดจากเชื้อรา ควรเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป หากแมวที่เลี้ยงยังมีเชื้อราอยู่ เจ้าของ หรือผู้ที่คลุกคลีกับแมวอาจเป็นพาหะที่นำเชื้อรากลับมาติดเด็กอีกได้
อย่างไรก็ตาม แม้ยาทาฆ่าเชื้อราที่ผิวหนังจะมีจำหน่ายตามร้านขายยาต่างๆ ทั่วไป แต่ทางที่ดี ควรพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยโรคโดยละเอียดก่อน เพราะเราอาจเลือกยาทาที่ไม่เหมาะกับลักษณะของโรคได้ หรืออาจเกิดอาการข้างเคียงอื่นๆ ได้โดยไม่คาดคิด เพราะฉะนั้นการเลือกใช้ยาทาที่เหมาะสมกับอาการ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดีกว่าค่ะ
วิธีป้องกันเชื้อราแมว
- ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากสัมผัสแมว
- พาแมวไปตรวจสุขภาพและให้วัคซีนตามโปรแกรมที่กำหนด
- หากโดนแมวกัดและข่วน ต้องรีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและใส่ยา และรีบไปพบแพทย์
- นำแมวไปวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี
- กำจัดพยาธิภายนอกของแมว เช่น เห็บ หมัด
- ไม่ควรให้แมวมาเลียตามร่างกาย และภาชนะใส่อาหารของคน
- ควรเลี้ยงแบ่งแยกเป็นสัดส่วนและไม่ปล่อยให้ออกไปคลุกคลีกับสัตว์นอกบ้าน
- กำจัดสิ่งขับถ่ายของน้องแมว โดยการใส่ถุงมือและล้างมือทุกครั้ง รวมทั้งการทำความสะอาดถาดรองสิ่งขับถ่ายบ่อย ๆ
- ดูแลเด็ก ๆ ไม่ให้เด็กเล่นทรายที่มีสิ่งขับถ่ายของแมว
เรื่องของสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพของเด็ก เป็นสิ่งสำคัญ คุณพ่อคุณแม่ ควรปลูกฝังนิสัยดูแลเอาใจใส่สุขภาพร่างกายของตัวเองให้กับลูกตั้งแต่เค้ายังเล็กๆ เพื่อที่ต่อไป ลูกเราจะเป็นเด็กที่มี ความฉลาดในการดูแลรักษาสุขภาพ(HQ) สำหรับเด็กเล็ก อาจจะยังไม่เห็นพัฒนาการด้านนี้ชัดเจน แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มปลูกฝังและใส่ใจเรื่องสุขภาพ การดูแลร่างกายในการทำกิจวัตรประจำวันได้ทุกวัน เพื่อให้ลูกซึมซับและดูแลใส่ใจสุขภาพตัวเอง ซึ่งก็จะเป็นการสร้าง HQ ที่ดีในตัวลูกได้ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : thaihealth.or.th,emmasdiary.co.uk,sanook.com,rama.mahidol.ac.th
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
วิจัยเผย! ให้ลูกกินปลา-พาลูกเที่ยวฟาร์ม ป้องกันโรคภูมิแพ้ ได้
โรคเด็ก ที่พบบ่อย โรคในเด็ก ยอดฮิต พ่อแม่ต้องระวัง
ทำความสะอาดของเล่น ลูกน้อยปลอดภัยจากเชื้อโรค
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่