3. เมื่อ พาลูกไปเที่ยว แล้ว “ลูกทะเลาะกับเด็กคนอื่น”
เมื่อปล่อยเจ้าตัวเล็กเล่นในพื้นที่ส่วนรวม อาจจะมีเหตุวิวาทกับเด็กคนอื่นได้ อาจารย์ปนัดดาแนะนำวิธี “พาออกเดี๋ยวนั้น” เป็นดีที่สุด แต่ต้องสอนให้เขารู้จักทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วย
- ลูกเราถูกแกล้ง สอนให้รู้จักหลบเลี่ยงสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยเพื่อตัวของเขาเอง สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องบอกเขาว่าหากพบเจอเหตุการณ์อย่างนี้อีกลูกน้อยควรจะทำอย่างไร อาจแนะนำให้อยู่ให้ห่างเด็กเกเร บอกคุณพ่อคุณแม่เมื่อถูกแกล้งหรือแจ้งกับเจ้าหน้าที่ของสถานที่แห่งนั้น เพื่อให้ลูกน้อยรู้จักหลบหลีกสถานการณ์ทะเลาะวิวาทในอนาคต
- ลูกเราเป็นฝ่ายเริ่ม หากลูกน้อยเป็นฝ่ายเริ่มหมายความว่าเขายังไม่พร้อมจะเล่นกับคนอื่น เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ไม่ว่าจะใครผิดใครถูก สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะแก้ไขสถานการณ์ได้ดีที่สุดคือขอโทษผู้ปกครองของอีกฝ่ายให้มากที่สุด และรับปากว่าจะกลับไปสอนลูกน้อยที่บ้าน จากนั้นพาลูกน้อยกลับบ้านหรือออกมาจากสถานที่แห่งนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องอธิบายและสอนให้เขาเข้าใจด้วยคำพูดว่า “หนูเล่นต่อไม่ได้นะคะ หนูยังไม่พร้อมที่จะเล่น เราตกลงกันไว้ว่าอย่างไรคะ”
- ผู้ปกครองอีกฝ่ายไม่ยอมหยุด ในกรณีที่ยุ่งยากกว่านั้นคือหากคุณพ่อคุณแม่ของอีกฝ่ายไม่ยอมจบง่ายๆ วิธีที่จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายได้มากที่สุดคือการสวมบทบาทเป็นผู้ฟังที่ดีค่ะ คุณพ่อคุณแม่เพียงรับฟังคำต่อว่า ขอโทษ และแสดงความเข้าอกเข้าใจอีกฝ่าย อาจพูดทำนองว่า “เราเข้าใจคุณ เป็นใครก็ต้องโมโห” เพื่อให้ลูกน้อยเห็นตัวอย่างของการรู้จักควบคุมอารมณ์และเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ของอีกฝ่ายไม่ให้ลุกลาม
ถ้ามีการเรียกร้องค่าเสียหายเกิดขึ้นถ้าเรื่องไม่จบง่ายๆ โดยอีกฝ่ายต้องการเรียกร้องค่าเสียหายโดยที่ต่างก็ไม่รู้ว่าต้นสายปลายเหตุเป็นอย่างไร ก็เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่พิจารณาให้ดูสมเหตุสมผลค่ะ หรือคุณอาจพูดให้เขาฉุกคิด เช่น “เข้าใจว่าคุณโกรธอยู่ แต่เรียกค่าเสียหายหมายความว่าฝ่ายเราผิด หากเราผิดจริงจะชดใช้ให้ แต่หากเราไม่ผิดคุณจะทำอย่างไร” ส่วนใหญ่หากไม่ใช่เรื่องร้ายแรงสถานการณ์ก็จะคลายลง แต่หากยังไม่คลายก็เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องหาวิธีไกล่เกลี่ยกันอย่างสมเหตุสมผลค่ะ
4. เมื่อ พาลูกไปเที่ยว แล้ว “ลูกหมดความอดทนรอคอย”
สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งใช้เวลานานกว่าที่คิด ระหว่างนั้นลูกน้อยอาจหมดความสนใจและเริ่มแสดงพฤติกรรมต่างๆส่งเสียงก่อกวน เล่นซน เพื่อบอกให้รู้ว่าเขาเบื่อ
- เมื่อลูกบอกว่าเบื่อ = หากเขาแสดงอาการเหล่านี้หมายความว่าเขารู้สึกเบื่อมาสักพักแล้วค่ะ เพียงแต่เขาอดทนต่อไปไม่ไหวแล้ว วิธีแก้ไขคือดึงความสนใจของเขาให้กลับมา อาจชี้ชวนให้ดูอย่างอื่น ชวนพูดคุยเรื่องอื่น หรือชวนวางแผนถึงทริปต่อไปก็ได้ หากคุณพ่อคุณแม่บ่นหรือต่อว่าพฤติกรรมที่เขาแสดงออก นอกจากจะไม่ช่วยให้เขาสงบแล้ว ยังอาจจะทำให้เขายิ่งแสดงพฤติกรรมไม่ดีมากขึ้นเพื่อสื่อสารให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่าเขาเบื่อและหมดความอดทนแล้วจริงๆ
- เมื่อลูกต้องเข้าคิว = ในกรณีที่มีกิจกรรมต้องต่อแถวเข้าคิวก็เหมือนกันค่ะ คุณพ่อคุณแม่สามารถพูดคุยหรือกระตุ้นความสนใจของเขา เพื่อให้เขาสามารถอดทนเข้าแถวได้จนเสร็จสิ้น แต่อาจารย์ไม่แนะนำให้ผู้ใหญ่รอคิวแทนเด็กหรือใช้ความน่ารักน่าสงสารของเด็กเพื่อลัดคิวนะคะ เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้ลูกน้อยไม่รู้จักการอดทนรอคอย หากลูกน้อยหมดความอดทนแล้วจริงๆ คุณพ่อคุณแม่ก็ให้ทางเลือกกับเขาได้ว่าจะอดทนรอต่อเพื่อให้ได้เล่นสนุก หรือจะออกจากแถวแล้วไปเที่ยวหรือเล่นอย่างอื่นแทน
5. ในที่เที่ยว เมื่อลูกจะเล่นทั้งหมดคนเดียวไม่แบ่งใคร
หรือไม่มีใครแบ่งให้ลูกเรา
การไม่รู้จักแบ่งปันเป็นอีกพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าลูกน้อยยังไม่พร้อมสำหรับสถานที่นั้นค่ะ วิธีการที่คุณพ่อคุณแม่จะควบคุมสถานการณ์ได้คือพาเขาออกมา แล้วทำการทบทวนกฎกติกากันใหม่ หากลูกน้อยยังดึงดันจะเล่นคนเดียวก็หมายความว่าควรกลับบ้านไปตกลงกันอีกครั้ง เช่นเดียวกับกรณีที่ลูกน้อยไม่ยอมเมื่อเพื่อนคนอื่นไม่แบ่งเขาบ้าง นั่นหมายความว่าเด็กคนนั้นไม่พร้อมจะเล่นกับลูกของเรา คุณพ่อคุณแม่อาจพูดเพื่อให้ทางเลือกกับลูกน้อยว่า “หนูจะยืนทะเลาะกับเพื่อนอยู่ตรงนี้หรือไปเลือกเล่นอย่างอื่น” เพื่อให้ลูกน้อยรู้ว่าการทะเลาะจะทำให้เขาเสียเวลาและหมดสนุก
เมื่อลูกถามว่า “ทำไมถึงไม่ให้หนูเล่น” ทั้งๆ ที่ลูกไม่ผิดบางทีเราก็ต้องยอมรับว่า ในสถานที่ท่องเที่ยว มีผู้คนมากหน้าหลายตา ลูกเราอยากเล่นตรงนั้นมาก แต่กลับมีเด็กขี้โวยวาย ดูไม่น่ารักในสายตาของคนทั่วไปจริงๆ ถ้าลูกบอกว่า “ทำไมเขาถึงได้เล่น แต่หนูไม่ได้เล่น” เราก็บอกลูกได้ว่า “หนูอย่าเพิ่งไปเล่นกับเขาเลย เดี๋ยวก็ทะเลาะกันเปล่าๆ เขายังไม่พร้อม อย่าไปเสียเวลาเลยจ้า เราไปหาอะไรสนุกๆ อย่างอื่นดีกว่า”