ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 บวกกับความรวดเร็วของข้อมูลข่าวสารที่มีทั้งข่าวจริง ข่าวปลอม จนทำให้แม่ ๆ หลายคนเลี้ยงลูกด้วยอาการจิตตก มีทั้งความรู้สึกกังวล ห่วงครอบครัว จนเกิดอาการ “เครียด” ที่นอกจากจะบั่นทอนจิตใจยังส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ไม่น้อย การเตรียมพร้อมรับมือกับความวิตกกังวลดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง มาดู วิธีคลายเครียด ที่อย่างน้อยก็ต้องทำจิตใจและร่างกายให้แข็งแรงขึ้นเพื่อดูแลลูกและครอบครัวกันค่ะ
นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้อธิบายถึงความกังวลที่เกิดขึ้นในสถานการณ์แบบนี้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มที่กังวลน้อยไป กลุ่มที่ 2 กังวลมากไป ซึ่งแบ่งความกังวลได้เป็น กลัวคนอื่นจะมาติด กลัวว่าคนป่วยหรือคนเสี่ยงจะมาทำให้เราติด กลัวอาหารหมดจนต้องไปกักตุน กลัวหน้ากากหมด กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่ 3 ตระหนักแต่ไม่ตระหนก รู้จักป้องกันตนเอง ด้วยวิธีการพื้นฐาน ตระหนักรู้ว่าเราต้องทำอย่างไร
“การที่เรากลัวเกินไป ส่งผลกระทบต่อสังคม สิ่งสำคัญคือ สุขภาพจิตเสีย นอนไม่หลับ ใช้เวลาในการรับรู้ข่าวสารยาวนานเกินไป เกิดความเครียด มีผลเสียต่อสุขภาพกาย เวลาที่เราเครียดทำให้เราภูมิคุ้มกันตก เราควรอยู่ในระดับความกังวลที่พอดี คือ กลุ่มที่ 3 หากกังวลน้อยไปก็ต้องเปลี่ยน แต่หากกังวลมากไปก็ไม่ดีต่อสุขภาพจิต แต่หากอยู่ในความพอดี คุณคือคนสำคัญที่จะเตือนคนรอบข้างของเราได้” นายแพทย์ยงยุทธ กล่าว”
ด้านนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้กล่าวถึงผลเสียที่เกิดจากความเครียดว่า “หากมีความเครียดสะสมในระดับที่มากไปจะส่งผลต่อสุขภาพกาย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดท้อง และส่งผลต่อสุขภาพจิต หงุดหงิด โกรธง่าย เบื่อหน่าย คิดมาก วิตกกังวล เศร้าหมอง รวมทั้งอาจมีพฤติกรรม เก็บตัว ชวนทะเลาะ มีเรื่องขัดแย้งกับผู้อื่น”
เมื่อแม่จิตตก! 9 วิธีคลายเครียด ดูแลสุขภาพใจไม่ให้ Panic ช่วงโควิด-19
วิธีช่วยคุณแม่ลดความกังวลใจในสถานการณ์เกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19 สามารถทำได้หลายทาง เช่น
1.เว้นระยะการรับข้อมูลข่าวสาร การอ่านข้อมูลข่าวสารที่มากเกินไปทำให้เกิดความกังวลใจได้มาก ซึ่งก็มีทั้งข่าวจริงและที่เป็นเฟคนิวส์ เมื่อเสพข่าวที่ล้นเกินไปทำให้สามารถเสียการควบคุมตัวเองได้ จนเกิดอาการบั่นทอนทางจิตใจ ซึ่งสิ่งที่ทำให้คลายกังวลหรือการติดตามข่าวสารอย่างมีสติ และเรียนรู้ที่จะคัดกรองแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ ได้ เช่น เว็บไซต์ WHO หรือกรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้สามารถเฝ้าระวังและรับมือได้อย่างเหมาะสม
2.การพูดคุยด้วยวิธีออนไลน์ กับคนในครอบครัว เพื่อน หรือคนที่ไว้ใจ จะสามารถช่วยคลายความรู้สึกเครียด หรือวิตกกังวลได้เป็นอย่างดี เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและมีสุขภาพจิตที่ดีตามไปด้วย
3.พยายามรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่ประโยชน์เพื่อส่งผลดีต่อสุขภาพ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
4.หากิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ทำให้ตัวเองมีความสุขในเวลาว่างทำ เช่น ดูซีรีส์ อ่านหนังสือ ฟังเพลง ทำงานประดิษฐ์ ฯลฯ
5.ดูแลร่างกายตัวเองมากขึ้น ฝึกการกำหนดลมหายใจเข้าออก คือเมื่อหายใจเข้าหน้าท้องจะพองออก และเมื่อหายใจออกหน้าท้องจะยุบลง หายใจเข้าลึก ๆ และช้า ๆ กลั้นไว้ชั่วครู่แล้วจึงหายใจออก หมั่นลองฝึกเป็นประจำทุกวัน จนสามารถทำได้โดยอัตโนมัติ การหายใจแบบนี้จะช่วยให้ร่างกายได้รับออกซิเจนมากขึ้น ควบคุมให้หัวใจเต้นช้าลง ทำให้สมองแจ่มใส และคลายกังวลมากขึ้น
6.นั่งสมาธิ เป็นอีกวิธีที่ได้ผลดีในการช่วยบำบัดความเครียดและต้องการผ่อนคลาย โดยเริ่มต้นนั่งจากท่าที่สบาย จากนั้นให้หลับตาแล้วหายใจเข้าออกช้าๆ เริ่มทำสมาธิด้วยการเอาใจไปจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียวด้วยการใช้วิธีนับลมหายใจเป็นหลัก ซึ่งก็จะช่วยทำให้ความเครียด ความรู้สึกวิตกกังวลลดลงได้
7.ให้เวลากับตัวเองเงียบ ๆ คล้ายกับการทำสมาธิ เพียงแต่ไม่ต้องกำหนดลมหายใจ โดยใช้เวลาประมาณ 15 นาที นั่งหรือนอนในท่าที่สบาย จากนั้นหลับตาเพื่อตัดสิ่งรบกวนจากภายนอก หายใจเข้าออกช้า ๆ ลึก ๆ ฝึกครั้งละ 10-15 นาที ทุกวัน วันละ 2 ครั้ง
8.ปรับตัวเพื่อปรับสภาพจิตใจ โดยหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับปัญหาไปสักระยะหนึ่ง และพยายามไม่คาดหวังในสิ่งต่าง ๆ มากจนเกินไป พยายามคิดบวกเข้าไว้ แต่ถ้าหากคุณแม่รู้สึกเครียด รู้สึกจิตใจตัวเองย่ำแย่เกินไป การปรึกษานักจิตวิทยานับว่าเป็นทางออกที่ดี
9.ออกกำลังกาย หากิจกรรมที่สามารถออกกำลังภายในบ้านได้ เช่น โยคะ บางท่าของโยคะถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการลดความตึงเครียดและผ่อนคลายร่างกายได้ การยืนบิดตัวยืดเส้นยืดสาย หรือการเดิน/ วิ่งรอบ ๆ บ้านก็จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อนผ่อนคลายลง และยังเพิ่มระดับเอ็นโดรฟินหรือสารอื่น ๆ ที่ดีต่อสุขภาพและอารมณ์ ซึ่งช่วยคลายเครียดได้เป็นอย่างดี
ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 ที่ส่งผลให้ทุกคนเกิดความเครียดได้ โดยสาเหตุหลัก ๆ คือเกิดจากความกลัวและความกังวล ทำให้เกิดอาการนอนหลับยากขึ้น มีสมาธิน้อยลงเพราะมีสิ่งรบกวนจิตใจ แน่นอนว่าช่วงนี้ความเครียดอาจเป็นสิ่งที่หนีไปพ้น แต่ก็สามารถหาวิธีคลายเครียดลงได้ เพื่อทำให้ทุกคนสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุขและมีสุขภาพที่ดีนะคะ.
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.brandinside.asia. www.bangkokbiznews.com, www.goodlifeupdate.com
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ :
หมอรามาแนะแนวทาง รับมือไวรัสโคโรน่า “5 วิธีดูแล+สอนลูก รอดจาก COVID-19”
8 วิธีรับมือไวรัสโคโรน่า COVID-19 ฉบับพ่อแม่ที่มีลูกเล็กโดยเฉพาะ!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่