อย่าคิดว่าเป็นโควิด-19 จะรู้ได้ถ้ามีไข้ หรือพบจุดขาวในปอดตอนเอ็กซเรย์เท่านั้น หลังพบเด็กจำนวนมากป่วยหนักด้วยอาการประหลาด “เป็นผื่น เจ็บคอ ปวดท้อง ตาแดง หลอดเลือดหัวใจตีบ “ และมีเชื้อโควิดในร่างกาย ” โรคแทรกซ้อนโควิด-19 ” ภัยเงียบที่แฝงมาทำร้ายลูกน้อย อันตรายถึงชีวิต เตือนพ่อแม่อย่านิ่งนอนใจ สังเกตเจอสัญญาณผิดปกติ รีบพาหมอทันที
เด็กกับโรคโควิด-19
เราอาจเคยได้ยินข้อมูลที่ว่า ผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 จะมีอาการรุนแรงและอันตรายถึงชีวิตมากกว่าเด็ก ๆ ใช่ไหมคะ เพราะเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 มักไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ก็ใช่ว่าจะไม่อันตรายกับเด็กเลย ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีโรคประหลาดที่มีความสัมพันธ์กับโรคโควิด-19 เกิดขึ้นกับเด็กจำนวนมากในหลายประเทศทางตะวันตกอีกด้วย จะมีอาการเป็นอย่างไรบ้าง ไปทำความเข้าใจกันค่ะ
โรคแทรกซ้อนโควิด-19 ” ภัยเงียบที่แฝงมาร้ายลูกน้อย
เมื่อเด็กที่หายจากโควิด-19 ป่วยหนักอีกครั้งด้วยอาการคล้ายโรคคาวาซากิ
“โรคคาวาซากิ” (Kawazaki disease) เป็นโรคที่มีสาเหตุการเกิดไม่ทราบแน่ชัด เมื่อมีการติดเชื้อในผู้ป่วย มักทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานดีมากจนเกินไป กลายเป็นการทำร้ายตัวเอง จนสุดท้าย ส่งผลต่อหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง และเยื่อบุหัวใจอักเสบ
เด็กที่ป่วยเป็นโรคคาวาซากิ จะมีอาการไข้สูง ตาแดง ปากแดง ปวดศีรษะ เจ็บคอ ปวดท้อง และอาเจียน บางรายมีผื่นและอาการช็อก ในบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อน คือ การเกิดการอักเสบของหัวใจและหลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ อาจทำให้หลอดเลือดหัวใจมีลักษณะโป่งพอง ตีบหรือแคบได้ ในรายที่หลอดเลือดตีบมาก อาจเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ทำให้เสียชีวิตเฉียบพลัน ในภาวะแทรกซ้อนนี้ อาจเป็นสาเหตุเสียชีวิตได้ แม้ไม่เสียชีวิตก็อาจจะเป็นโรคนี้ไปตลอดชีวิตของเด็กคนนั้นก็ได้
อ่านเพิ่มเติม >> Covid toe ผื่นแดงขึ้นเท้า สัญญาณเตือน ลูกติดโควิดแม่อย่าชะล่าใจ
อ่านเพิ่มเติม >> โรคคาวาซากิ ภัยร้ายเด็กเล็กที่ก่อโรคหัวใจในเด็ก
ประมาณกลางเดือนเมษายน 2563 หลังโรคโควิด-19 เริ่มมีการระบาดอย่างหนักในยุโรปประมาณ 1 เดือน กุมารแพทย์ในประเทศอังกฤษพบเด็กป่วยที่ไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้ ในผู้ป่วยบางคนมีอาการครบข้อบ่งชี้โรคคาวาซากิ โดยพบว่าผู้ป่วยเกือบทั้งหมดมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่แสดงว่าเคยมีการติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน โดยอาจจะพบหรือไม่พบเชื้อในทางเดินหายใจของผู้ป่วยก็ได้ แสดงให้เห็นว่าการระบาดของโรคโควิด-19 น่าจะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดโรคที่มีอาการคล้ายโรคคาวาซากิได้
องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งชื่อเรียกภาวะคาวาซากิที่เกิดในคนไข้โควิด-19 นี้ว่า Multisystem Inflammatory Disorder in Children and Adolescents หรือ MIDCA
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
หลังจากที่พบเด็กป่วยด้วยอาการคล้ายโรคคาวาซากิจำนวนมาก ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ของประเทศสหราชอาณาจักรได้มีการออกจดหมายเตือนกุมารแพทย์เกี่ยวกับโรคดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 โดยให้ชื่อว่า Pediatric Multisystem Inflammatory Syndrome – Temporally Associated with Covid-19 (PMIS-TS) หลังจากนั้นได้มีการยืนยันว่าพบภาวะดังกล่าวในเด็กจากอีกหลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยบางรายมีอาการรุนแรงจนทำให้เด็กเสียชีวิต ส่วนทาง Center for Disease Control (CDC) หรือศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการออกคำเตือนเกี่ยวกับโรคนี้เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 โดยให้ชื่อว่า Multisystem Inflammatory Syndrome in Children Associated with Covid-19 (MIS-C)
รู้จัก MIS-C อาการป่วยที่คล้ายกับโรคคาวาซากิ
โรค Multisystem Inflammatory Syndrome in Children หรือ MIS-C คือกลุ่มอาการที่ทำให้เกิดภาวะอักเสบในหลายอวัยวะ ผู้ป่วยเด็กโรค MIS-C จะมีอาการที่มีความคล้ายคลึงกับผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคคาวาซากิหลายประการ เช่น มีไข้สูง ผื่น ตาแดง ปากแดง ต่อมน้ำเหลืองโต
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบ MIS-C กับโรคคาวาซากิ จุดสังเกตคือ โรคคาวาซากิเกิดในเด็กเล็กถึงอายุ 5 ปี ส่วน MIS-C จะเป็นในเด็กโต อายุเฉลี่ย 7.5 ปี พบสูงสุด 21 ปี โดย MIS-C จะมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารบ่อยกว่า มีภาวะช็อกจากภาวะหัวใจล้มเหลว ส่วนหนึ่งกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติชั่วคราว และมีเกล็ดเลือดต่ำ มีอาการทางสมอง ขณะที่คาวาซากิมักไม่ค่อยมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร มีหลอดเลือดอักเสบแต่ไม่ถึงภาวะช็อก เกล็ดเลือดค่อนข้างสูง
อ่านเพิ่มเติม >> โรคอักเสบรุนแรงในเด็ก ที่อาจเกี่ยวข้องกับโควิด 19
อ่านมาถึงตรงนี้ คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงมีคำถามว่า สรุปแล้วโรคโควิด-19 เป็นสาเหตุของอาการป่วยคล้ายโรคคาวาซากิที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายด้วยหรือไม่ ในเรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนจากวงการแพทย์ค่ะ เพราะยังไม่มีผู้ป่วยดังกล่าวที่ตรวจพบชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกราย แต่มีแนวโน้มว่าโรคทั้งสองโรคนี้มีความสัมพันธ์กันอยู่ อย่างไรก็ตาม หากอาการเด็กน่าสงสัยเข้าลักษณะกลุ่มอาการโรคคาวาซากิ หรือ MIS-C ต้องให้เฝ้าระวังความสัมพันธ์กับการติดเชื้อโควิด-19 และให้ทำการตรวจหาเชื้อนี้ร่วมไปด้วย
ด้วยความที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลาย รัฐบาลจึงมีการปลดล็อกมาตรการหลายอย่างเพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามเดิม รวมไปถึงจะมีการเปิดเทอมในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 นี้ อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่สถานการณ์ยังไม่แน่นอน และการระบาดระลอกสองของโควิด-19 อาจมาถึงได้ทุกเมื่อ ขอให้คุณพ่อคุณแม่อย่าชะล่าใจ ดูแลลูกให้ที่สุด และปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เตรียมหน้ากากอนามัยให้ลูก บอกให้เขาล้างมือบ่อย ๆ เพราะป้องกันไว้ ดีกว่าแก้ไขทีหลังแน่นอนค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
แพทย์ไทย ไอเดียสุด / Doc Idea D
อ่านบทความน่าสนใจเพิ่มเติม
6 โรคที่มากับหน้าฝน ในเด็กที่ต้องระวัง รู้เท่าทันป้องกันลูกป่วย