การวินิจฉัยไอพีดี
การวินิจฉัยไอพีดีอาศัยอาการของผู้ป่วยและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจนับเม็ดเลือดอาจพบจำนวนเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ติดเชื้อในกระแสเลือด การเพาะเชื้อในน้ำไขสันหลัง เลือด หรือเสมหะ จะช่วยยืนยันว่าโรคเหล่านี้มีสาเหตุจากเชื้อนิวโมคอคคัสจริง
การรักษาผู้ป่วยไอพีดี
หลักการรักษาผู้ป่วยไอพีดีที่สำคัญคือ การให้ยาต้านจุลชีพที่เหมาะสม การเลือกใช้ยาขึ้นกับโรคที่เป็นและโอกาสในการพบเชื้อที่ดื้อยา
ในอดีตแพทย์มักเลือกใช้ยาต้านจุลชีพในกลุ่มเพนนิซิลินในการรักษาผู้ป่วยไอพีดี แต่ปัญหาเชื้อนิวโมคอคคัสดื้อยาทำให้การเลือกใช้ยาต้านจุลชีพต้องเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต การเลือกใช้ยาต้านจุลชีพก่อนยืนยันว่าเป็นการติดเชื้อนิวโมคอคคัสควรครอบคลุมเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อแต่ละโรคซึ่งอาจเกิดจากเชื้ออื่นๆ นอกเหนือไปจากเชื้อนิวโมคอคคัส
เมื่อมีการยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่ามีการติดเชื้อนิวโมคอคคัสอาจเปลี่ยนไปใช้ยาต้านจุลชีพที่เหมาะสมตามความไวของยาต่อเชื้อที่ตรวจพบ
การป้องกันไอพีดี
การป้องกันไอพีดีในเด็กทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการนำเด็กเข้าไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัดโดยไม่จำเป็น การสวมหน้ากากอนามัย การปิดปากและจมูกเวลาไอจาม และล้างมือบ่อยๆ ในผู้ป่วยที่มีอาการไข้หรือมีอาการหวัด อาจช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อนิวโมคอคคัสเช่นเดียวกับการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันอย่างเหมาะสมโดยสามารถปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมได้
รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย