เทคนิคที่ 2
เวลาคุณภาพ 20/7 คือการใช้เวลาคุณภาพอยู่ตามลำพังกับลูก 20 นาทีทุกวัน โดยที่ไม่มีน้องเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม มีขั้นตอนสำคัญ ดังนี้
- จัดตารางกิจวัตรประจำวันสำหรับเวลาแห่งคุณภาพ 20 นาที ไม่จำเป็นต้องกำหนดเป็นเวลาแน่นอน แต่กำหนดเป็นช่วงเวลาที่สามารถคาดการณ์ได้ เช่น หลังลูกตื่นนอนตอนเช้า ขณะที่น้องของลูกนอนกลางวัน หรือก่อนลูกเข้านอน เป็นต้น
- ให้ลูกคิดกิจกรรม โดยเริ่มจากการอธิบายว่าลูกและเราจะมีเวลาคุณภาพ 20 นาทีทุกวันในช่วงเวลาตามที่กำหนดไว้ และช่วงเวลานี้จะมีแค่เราสองคน (คุณพ่อหรือคุณแม่และลูก) หรือ สามคน (คุณพ่อคุณแม่และลูก) เราจะทำอะไรด้วยกันก็ได้ตามที่ลูกต้องการ ขอให้ลูกคิดไว้เลยว่า เมื่อถึงเวลาคุณภาพแล้ว เราจะทำอะไรด้วยกันดี
- ใช้เวลาคุณภาพกับลูก เป็นเวลา 20 นาที โดยทุ่มความสนใจทั้งหมดไปที่ลูกคนพี่เท่านั้น งดอุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เน้นการพูดคุย การเล่น และการมีปฏิสัมพันธ์กับลูก
เด็กเล็กวัยเตาะแตะจะต้องการความรัก ความสนใจมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงวัยแห่งการสำรวจ เรียนรู้ และทำความเข้าใจโลกใบนี้ แต่ด้วยพัฒนาการและประสบการณ์ที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงทำให้เด็กเล็กยังจำเป็นต้องพึ่งพาคุณพ่อคุณแม่ให้ช่วยดูแล ตอบสนองความอยากรู้อยากเห็น และความต้องการพื้นฐานทางร่างกาย และจิตใจ เพื่อให้แน่ใจว่าโลกใบนี้มีความมั่นคงปลอดภัยต่อชีวิตของเขา เมื่อวันหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลง ด้วยการมีน้องเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ก็ยิ่งจำเป็นจะต้องทำให้ลูกมั่นใจว่าความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตของเขาจะยังคงเดิม เทคนิคนี้จึงเป็นเครื่องรับประกันว่า เขาจะยังคงได้รับความรัก ความสนใจจากพ่อแม่อยู่ และยังเป็นเครื่องมือให้ลูกใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจในเวลาที่ต้องรอคุณพ่อคุณแม่ให้เสร็จภารกิจจากการดูแลน้องอีกด้วย
DON’Ts คำพูดต้องห้าม ทำลูกคิดติดลบ
- ไปเล่นที่อื่นก่อน!
- แม่ดูแลน้องอยู่ ทำให้ไม่ได้!
- น้องยังเด็ก หนูโตแล้วต้องหัดทำเอง!
พี่น้อง เป็นความสัมพันธ์ที่สวยงามที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นได้ในชีวิตของคนๆ หนึ่ง เราต่างรู้กันดีว่าการเลี้ยงพี่น้องมีความละเอียดอ่อนมาก วิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการส่งเสริมหรือยับยั้งความสัมพันธ์ที่ดีของพี่น้อง เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก 2 เทคนิคนี้ได้นำเสนอแนวทางการเลี้ยงดูสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์และความทรงจำดีๆ ให้พี่น้องร่วมกันในวัยเยาว์ และเป็นการลงทุนระยะยาวที่คุ้มค่า เปรียบเหมือนของขวัญล้ำค่าจากพ่อแม่ที่มอบให้ลูกๆ ทุกคน
ชมคลิป “พี่ ณดา ป้อนขนม น้อง ณดล” คลิก!
เรื่อง: ผศ.ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์สาขาพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล