ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะหลบหน้าหรือเกาะพ่อแม่หนุบหนับเมื่อเจอคนแปลกหน้า เด็กบางคนที่อยู่ในครอบครัวใหญ่ คุ้นเคยกับผู้คนหลากวัยในหลายสถานที่ มักมีความพร้อมที่จะพบเจอกับใบหน้าใหม่ๆ ตลอดเวลา ย่างไรก็ดี มีข้อพึงระวังและปฏิบัติดังนี้…
ข้อพึงระวังและข้อปฏิบัติ ที่พ่อแม่ ควรสอนลูกระวังคนแปลกหน้า
⇒ อย่าละสายตาจากลูก แม้ทักษะความระแวดระวังของลูกจะพัฒนาเมื่อเขาได้ออกไปสู่โลกกว้าง แต่ในวัยนี้ความปลอดภัยทั้งหมดถือว่าขึ้นอยู่กับสายตาแห่งความระแวดระวังของคุณ ฉะนั้นอย่าได้ละสายตาจากลูกแม้เพียงชั่วขณะ
⇒ ช่วยกระตุ้นให้ลูกรู้จักระวัง เร็วเกินไปที่จะคาดหวังการพิจารณาอย่างกลั่นกรองก่อนสานสัมพันธ์กับใคร แต่คุณคาดหวังพฤติกรรมบางอย่างจากลูกได้ บอกกับเขาอย่างตั้งใจว่าจะไปหาคุณน้า หรือไม่ว่าจะไปไหน ต้องบอกพ่อกับแม่ก่อนนะคะแม้ลูกอาจยังไม่เข้าใจความหมายของมันดีนัก แต่การพูดซ้ำๆ ย่อมช่วยให้กลไกในการระแวดระวังตัวของลูกพัฒนาขึ้น
⇒ อย่าข่มขู่ ระมัดระวังคำพูดที่สื่อว่าคนแปลกหน้าเท่ากับความมุ่งร้ายหลีกเลี่ยงคำพูดเช่น เดี๋ยวพี่เขาเอาตัวไปนะ หรือ คนนั้นน่ะดุนะ!สิ่งเดียวที่ลูกวัยนี้ควรเข้าใจคือ ไม่ว่าจะเดินเข้าไปหาใคร เขาต้องหันกลับมาขอความเห็นชอบจากพ่อแม่ก่อนทุกครั้ง
สอนลูกเอาตัวรอดอย่างปลอดภัย
เพราะจะให้พ่อแม่มานั่งระแวดระวังคอยเฝ้าลูกตลอด 24 ชั่วโมง คงเป็นไปไม่ได้ เมื่อลูกโตขึ้นเข้าวัยเริ่มรุ่น รู้เรื่องมากขึ้น เข้าใจเหตุและผลมากขึ้น บางโอกาสอาจต้องไปไหนมาไหนคนเดียว แม้ในระยะใกล้ๆ คุ้นเคย จึงจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีสังเกตและป้องกันตัวเอง เพื่อที่ลูกของเราต้องไม่กลายเป็นเหยื่อรายต่อไป พ่อแม่ควรสอนอะไรลูกบ้างมาดูกันค่ะ
1. รู้จักและเข้าใจเรื่องความปลอดภัย และความไม่ปลอดภัยในชีวิตประจำวัน
เกิดได้ง่ายเพราะในสังคมมีทั้งคนดีและไม่ดีภัยจากคนแปลกหน้า หรือแม้แต่คนรู้จัก ท่าทางเป็นมิตร สุภาพใจดีก็เกิดขึ้นได้ ลูกควรทำอย่างไร หากมีคนมาชวนไปไหนมาไหนโดยที่พ่อแม่ไม่รู้ รับหรือปฏิเสธสิ่งของที่เขาให้ เพราะอะไร และอย่างไร
2. ฝึกให้เป็นเด็กช่างสังเกต
สนใจสิ่งรอบตัว และที่สำคัญมีสติ เหล่านี้จะช่วยบ่มเพาะให้เขารู้จักระวังตัว และเอาตัวรอดได้ในยามคับขัน ซึ่งการสังเกตที่ว่า หมายรวมถึงจดจำสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นเบอร์โทรศัพท์ของคุณพ่อ คุณแม่ ชื่อซอยบ้าน สถานที่ตั้งของบ้าน และสถานที่ใกล้เคียง เผื่อว่าหากเกิดเหตุการณ์ร้าย เขายังสามารถบอกพิกัดต่างๆ ได้ พยายามฝึกบ่อยๆ ถึงเวลาจึงจะนำมาใช้ได้โดยอัตโนมัติ
3. เรียนรู้วิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์คับขัน
เช่น การวิ่ง ศิลปะป้องกันตัวเบื้องต้น หรืออาจส่งลูกไปเข้าคลาสมวยไทยหรือเทควันโดก็ได้ โดยเราต้องกำกับเพิ่มเติมลงไปด้วยว่า ศิลปะการต่อสู้เหล่านี้เรียนและฝึกไว้เพื่อใช้แก้ไขให้ยามคับขันเพื่อให้เอาตัวรอดออกมาได้ รวมถึงหยิบยกเหตุการณ์ที่เป็นข่าวเอามาเป็นตัวอย่าง ให้ลูกฝึกคิดว่าเขาจะทำอย่างไร เช่น จะตอบปฏิเสธอย่างไรให้ตัวเองปลอดภัยในกรณีที่เกิดไม่ไว้วางใจคนที่เข้ามาคุยด้วย และลองพูดจริงๆ โดยคุณเป็นคนป้อนคำถาม การยกเหตุการณ์จากข่าวยิ่งทำบ่อย ลูกจะยิ่งได้ฝึกคิดแก้ไขได้ฉับไวมากขึ้น
4. ปลูกจิตสำนึกต่อส่วนรวมให้กับลูก
ด้วยการสอนให้เขารู้จักช่วยเหลือผู้อื่น หากทำได้ และรู้วิธีขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น และไม่ดูดายกับความไม่ถูกต้อง
อันตรายจากคนแปลกหน้านั้นเป็นสิ่งที่ควรพึงระวังและรีบป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียต่อดวงใจดวงน้อยๆ ของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ
อ่านต่อ “บทความน่าสนใจ” คลิก!
- อย่าละสายตาจากลูกน้อยแม้แต่วินาทีเดียว
- ลักพาตัวต่อหน้าพ่อแม่ ภัยใกล้ตัวลูกน้อยที่ต้องระวัง
- สอนลูกให้ปลอดภัยจากคนแปลกหน้า
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids