หมอแนะ! ลูกน้ำเหลืองไม่ดี ต้องทำอย่างไร - Amarin Baby & Kids

หมอแนะ! ลูกน้ำเหลืองไม่ดี ต้องทำอย่างไร

Alternative Textaccount_circle
event

สาเหตุของน้ำเหลืองไม่ดี

คุณหมอได้รวบรวมและพบว่า ในมุมมองของคนทั่วไปนั้นคิดว่า น้ำเหลืองไม่ดี ที่พบโดยส่วนใหญ่นั้น เกิดจากสาเหตุดังนี้

ผื่นขึ้นในเด็กโดยหาสาเหตุไม่ได้  มักเป็นโรคผื่นแพ้ที่ผิวหนังซึ่งเกิดในวัยเด็กเมื่อโตขึ้นก็มักจะหายไป หาสาเหตุอย่างไรก็หาไม่เจอ…แต่ถ้าไปถามแพทย์ว่าผื่นแพ้ที่พบในเด็กมี อาการผื่นคันตามตัวเป็นแผลพุพองโดยที่ไม่ได้ไปเกาหรือมีแผลมาก่อน แพทย์ส่วนมากมักจะบอกว่าเป็นโรค Atopic Dermatitis ซึ่งโรคนี้มีที่มาที่ไปไม่ได้เป็นโรคที่ไม่มีสาเหตุ … โดยสาเหตุของมันก็เกิดจากกระบวนการแพ้ในชั้นผิวหนังซึ่งทำให้ผิวหนังเกิดการ อักเสบขึ้นมา พบได้ในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 10 ขวบ โดยในแต่ละวัยก็จะมีตำแหน่งที่เป็นแตกต่างกัน ถ้าซักต่อไปก็จะพบว่าในครอบครัวมักจะมีคนที่เป็นโรคพวกนี้ … ทั้งเมื่อโตขึ้นเด็กที่เป็นก็จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้มากกว่าปกติ นั่นเอง

ยุงกัดแล้วเกิดผื่นคัน ในน้ำลายของยุงจะมีสารที่ทำให้เลือดไม่แข็งตัวเพื่อมันจะได้ดูดเลือดได้อย่างสะดวก ทีนี้แต่ละคนมีภูมิต้านทานไม่เหมือนกัน ทำให้บางคนเจอยุงกัดแล้วไม่เจ็บไม่คัน บางคนโดนกัดเป็นแค่ตุ่มแดง บางคนตุ่มแดงจะเห่อขยายขึ้นเป็นแผล ถ้าเทียบกันระหว่างเกากับไม่เกา คนที่เกาตุ่มก็จะยิ่งเห่อแดง คนที่ไม่เกา ตุ่มก็จะเท่าเดิมและค่อย ๆ ยุบลง หรือแนะนำให้เอาน้ำสะอาดล้างน้ำลายยุงในบริเวณที่โดนยุงกัด เท่านี้อาการคันก็ดีขึ้นได้แล้วละค่ะ

จู่ ๆ ก็มีผื่นตุ่มพอง บางทีกลายเป็นหนอง บางคนมีลักษณะผิวหนังที่ง่ายต่อการกระตุ้น เมื่อเกา ถูกความร้อนความเย็น หรือไปสัมผัสกับสารที่แพ้เข้าผิวหนังก็จะเกิดการปล่อยสารก่อภูมิแพ้ขึ้นจน ผิวหนังบวมเห่อและคัน ถ้าหากไปเกาเพิ่มอาการคันก็จะมากขึ้น ในที่สุดอาจจะเกาจนเป็นแผล เมื่อเกิดแผลขึ้นเชื้อโรคที่อาศัยตามผิวหนังก็จะเข้าไปในบาดแผลและเกิดการติดเชื้อได้ ทางแก้ง่าย ๆ คือถ้าใครรู้ตัวว่าคันง่าย มีผื่นขึ้นบ่อย ก็ควรตัดเล็บให้สั้น ตะไบไม่ให้เล็บคม เพื่อไม่ให้เกิดแผล หลังจากนั้นก็ต้องค้นหาสาเหตุกันต่อว่าแพ้จากอะไร

น้ำเหลืองไม่ดีแบบมีตุ่มขึ้น ปวดแสบร้อนเหมือนโดนน้ำร้อนลวก อาจจะต้องระวังพวกเริมหรืองูสวัด ซึ่งเป็นโรคที่มาด้วยตุ่มน้ำพองใส แสบร้อน ในรายที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน ก็ต้องนึกถึงโรคอีสุกอีใสด้วย การรักษาในช่วงแรกก็อาจจะใช้ยาต้านเชื้อไวรัสในรายที่เป็นงูสวัด และระมัดระวังแผลไม่ให้ติดเชื้อ ในช่วงหลังก็อาจจะให้ยาเพื่อลดอาการเจ็บแสบร้อน

ลูกน้ำเหลืองไม่ดี

แต่ในมุมมองของแพทย์นั้น แท้จริงแล้วมีสาเหตุต่าง ๆ คือ

1. โรคที่เกี่ยวกับการแพ้และภูมิคุ้มกันของร่างกาย ตั้งแต่โรคภูมิแพ้ผิวหนังทั่วไป โรคภูมิแพ้ผิวหนังของเด็ก ซึ่งเป็นโรคที่ความรุนแรงไม่มากไปจนถึงกลุ่มที่มีอาการมากและมีอาการทางผิวหนังด้วย เช่น สะเก็ดเงิน เป็นต้น

2. โรคที่เกี่ยวกับการแพ้ที่มีสาเหตุ เช่น การแพ้สารเคมี การแพ้สารจากสัตว์หรือพืชบางชนิด การแพ้สารก่อภูมิแพ้ที่มีในสิ่งแวดล้อมเช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์

3. ผิวหนังได้รับสารที่ระคายเคืองหรือสารที่มีฤทธิ์กัดกร่อน เช่น ถูกสารเคมี(น้ำยาล้างห้องน้ำ ยาฆ่าแมลง ปุ๋ย)

4. การติดเชื้อ เช่น งูสวัด เริม เกลื้อน กลาก ผิวหนังเกิดการติดแบคทีเรียหรือเชื้อโรคอื่น ๆ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเอง หรือการที่ผิวหนังมีบาดแผลแล้วติดเชื้อซ้ำเข้าไป

ที่การแบ่งของ แพทย์แบ่งตามเหตุที่เป็นก็เพื่อให้การรักษาที่ครบถ้วนหรือมุ่งสู่องค์รวมมากที่สุด เพราะการรักษาผื่นผิวหนังแบบนี้ ไม่ใช่แค่บอกว่าเป็นน้ำเหลืองไม่ดีแล้วรักษาเหมือนกัน แต่จะต้องจัดการตั้งแต่ต้นเหตุ รักษาอาการที่ทำให้รู้สึกไม่สบาย และจัดการตั้งแต่ต้นเหตุรวมทั้งป้องกันผลข้างเคียงของแผลเหล่านั้นที่จะตามมา รักษาอาการที่ทำให้ไม่สบาย อาการที่ทำให้หลาย ๆ คนต้องมาได้แก่อาการคัน เจ็บแสบร้อน ปวดบวม การรักษามีตั้งแต่การใช้ยาลดการแพ้แก้คันชนิดกิน และยาทาที่ทำให้ผิวหนังเย็นเช่น คาลาไมน์ หรือ เหล้าผสมน้ำ หากมีบาดแผลเกิดขึ้นก็ให้ทำแผลจนกว่าผิวหนังจะกลับมาเป็นปกติ

รักษาที่สาเหตุ

หากแพทย์หาสาเหตุได้หรือสงสัยสาเหตุว่า ผื่นผิวหนังเกิดจากตัวกระตุ้นใด ก็จะรักษาตามสาเหตุนั้น ๆ หรือเรียกได้ว่าเป็นการรักษาตามอาการนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น

  • เกิดจากการติดเชื้อ ก็ให้ยาที่กำจัดเชื้อนั้น
  • เกิดจากการแพ้ ก็ให้ยาเพื่อลดการแพ้ทางการกินหรือทา
  • เกิดจากโรคทางระบบภูมิคุ้มกันก็ให้ยาเพื่อปรับภูมิคุ้มกัน จุดนี้เป็นจุดที่ต้องระวัง เพราะว่าในผู้ป่วยบางรายที่เข้าใจผิดคิดว่าลักษณะตุ่มพองคล้ายกันจึงใช้ยา โดยที่ไม่รู้ว่าอาจจะนำยาที่ใช้ในการรักษาการแพ้จำพวกสเตียรอยด์ไปทากับตุ่มที่เกิดจากการ ติดเชื้อและทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงตามมาได้

แนะนำให้ปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด ส่วนเรื่องการป้องกันการติดเชื้อนั้น ให้หมั่นทำความสะอาดแผล และปิดด้วยวัสดุที่สะอาดและผ่าการฆ่าเชื้อแล้วเท่านั้น


ขอบคุณที่มา: คุณหมอแมว จากเพจ Hunsa

อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up